วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

เพลงโคราช

เพลงโคราช

เพลงพื้นบ้านของชาวนครราชสีมามีหลายอย่าง เช่น เพลงกล่อมลูกเพลงกลองยาว(เถิดเทิง) เพลงเซิ้งบั้งไฟเพลงแห่นางแมว เพลงปี่แก้วเพลงหม่งเหม่ง เพลงลากไม้ เพลงเชิดเพลงช้าเจ้าหงส์ดงลำไยแต่เพลงที่เล่นกันแพร่หลายและมีอายุยืนยาวมาจนถึงปัจจุบันนี้ คือ เพลงโคราช
เพลงโคราชจะเริ่มเล่นตั้งแต่เมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด หลักฐานจากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา มีเพียงว่า สมัยท้าวสุรนารี ( คุณย่าโม ) ยังมีชีวิตอยู่ ( พ.ศ. 2313 ถึง 2395 ) ท่นชอบเพลงโคราชมาก เรื่องราวของเพลงโคราชได้ปรากฏหลัดฐานชัดเจน คือในปี พ.ศ. 2456 ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง เสด็จมานครราชสีมาทรงเปิดถนนจอมสุรางค์ยาตร์ และเสด็จไปพิมาย ในโอกาสรับเสด็จครั้งนั้น หมอเพลงชายรุ่นเก่าชื่อเสียงโด่งดังมากชื่อนายหรี่ บ้านสวนข่า ได้มีโอกาสเล่นเพลงโคราชถวาย เพลงที่เล่นใช้เพลงหลัก เช่น กลอนเพลงที่ว่า " ข้าพเจ้านายหรี่อยู่บุรีโคราชเป็นนักเลงเพลงหัด บ่าวพระยากำแหง ฯ เจ้าคุณเทศา ท่านตั้งให้เป็นขุนนาง .....ตำแหน่ง " ความอีกตอนเอ่ยถึงการรับเสด็จว่า " ได้สดับว่าจะรับเสด็จเพื่อเฉลิมพระเดชพระจอมแผ่นดิน โห่สามลา ฮาสามหลั่นเสียงสนั่น....ธานินทร์ "( สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงเป้นผู้บังคับการพิเศษประจำกรมทหารม้านครราชสีมา จนถึง พ.ศ. 2462 เมื่อเสด็จนครราชสีมา นายหรี่ สวนข่า ก็มีโอกาสเล่นเพลงถวาย ) เพลงโคราชมีโอกาสเล่นถวายหน้าพระที่นั่งในงานชุมนุมลูกเสือครั้งที่ 1 ในนามการแสดงมหรสพของมณฑลนครราชสีมา เกี่ยวกับกำเนิดของเพลงโคราช มีทั้งที่เป็นคำเล่าและตำนานหลักฐานจากคำบอกเล่าของหมอเพลงอีกจำนวนหนึ่งเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ในสมัยรัตนโกสินทร์มีสงครามระหว่างไทยกับเขมร เมื่อไทยชนะสงครามเขมรครั้งไร ชาวบ้านจะมีการเฉลิมฉลองชัยชนะ ด้วยการขับร้องและร่ายรำกันในหมู่สกที่เขาเรียกว่า " ซุมบ้านสก " ใกล้ ๆ กับชุมทางรถไฟ ถนนจิระและเริ่มเล่นเพลงโคราชกันที่หมู่บ้านนี้ ท่าทางการรำรุกรำถอย และการป้องหู มีผู้สันนิษฐานว่าประยุกต์มาจากการเล่นเจรียง ที่เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวสุรินทร์ผสมผสาน กับเพลงทรงเครื่องของภาคกลาง

เพลงโคราชจากอดีตถึงปัจจุบัน

สมัยก่อนนั้น เพลงโคราชเป็นที่นิยมมาก เพราะการแสดงมหรสพ ที่เป็นหัวใจของงานฉลองสมโภชใด ๆ ก็ตาม มีเพลงโคราชเพียงอย่างเดียว คนฟังเพลงก็มีเวลามาก ฟังกันตั้งแต่หัวค่ำจนรุ่งเช้า เมื่อหมอเพลงเล่นเพลงลา คือลาผู้ฟังลาเจ้าภาพ และเพื่อนหมอเพลงด้วยกัน จะมีปี่พาทย์ ฆ้อง กลอง บรรเลงรับ หมอเพลงจะรำตามกัน ไปยังบ้านเจ้าภาพ เจ้าภาพก็นำเงินค่าหมอเพลงมาให้ พร้อมทั้งเลี้ยงข้าวปลา อาหาร และห่อข้าว ของกินต่าง ๆ ให้เป็นเสบียง ในการเดินทางกลับ คนฟังจะอยู่ร่วมฟังงาน จนเสร็จสิ้นกระบวนการ จึงทยอยกลับเช่นกัน เพลงโคราชสมัยก่อน ได้ไปเล่นหลายจังหวัด เช่น บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุรินทร์ ตลอดจนถึงประเทศกัมพูชา สำหรับจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง ก็ไปเล่นเป็นครั้งคราว ปัจจุบันค่านิยมของผู้ฟัง เปลี่ยนแปลงไปมาก แม้แต่ผู้ฟัง ในจังหวัดนครราชสีมาเอง ก็เสื่อมความนิยมลงมาก บ้างก็เห็นว่า เพลงโคราช เป็นเพลงหยาบคาย และไม่น่าสนใจ แม้ทางราชการส่งเสริม ให้นำออกแสดง ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา ก็ต้องผ่านการตรวจ อย่างรัดกุม จะใช้ภาษาตรง ๆ เหมือนสมัยก่อนไม่ได้ถือว่าไม่เหมาะสมในการจัดงานฉลองสมโภชใดๆ มักจะมีมหรสพอื่นๆ เป็นคู่แข่งมากมาย เช่น ภาพยนตร์ มวย เพลงลูกทุ่ง ลิเก และรำวง เพลงโคราชจึงเป็นที่สนใจ สำหรับผู้ฟังรุ่นเก่าที่มีอายุค่อนข้างสูงแทบทั้งนั้น หมอเพลงโคราช ได้รวมตัวกัน เป็นคณะเพลงโคราช หลายคณะ และเข้ามาตั้งสำนักงานคณะ อยู่ในอำเภอเมืองเป็นส่วนใหญ่ เพื่อความสะดวก สำหรับมาติดต่อ หาเพลงไปเล่น หมอเพลงโคราช ต้องเล่นเพลงประยุกต์ ตามใจผู้ฟัง เช่น เล่นเพลงหมอลำ เล่นเพลงลำตัด และเพลงลูกทุ่ง พูดถึงท่ารำแตกต่างกันไป มีเพลงโคราชของคณะทองสุข กำปัง ที่ประยุกต์ เล่นแบบลำเพลิน คือนำเอาดนตรีสากล เข้ามาประกอบ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก การรวมตัวกันเป็นคณะเพลงโคราชปัจจุบันนั้น นางสองเมือง อินทรกำแหง เป็นผู้ริเริ่มตั้งขึ้นเป็นคนแรก เมื่อปี พ.ศ. 2499 ตั้งอยู่ที่ ถนนสุรนารายณ์และต่อมาก็มีคณะต่าง ๆ ตั้งขึ้นอีกหลายคณะ ข้อดีคือ ทำให้สะดวก ในการติดต่อจ้างไปเล่น ข้อไม่ดีคือ เมื่อหมอเพลงอยู่คณะเดียวกัน ก็รู้ชั้นเชิงและฝีปากกัน ทำให้ฟัง ไม่สนุกสนาน มีผู้พยายามจะรวมคณะเพลงโคราชต่าง ๆ ก่อตั้งเป็นสมาคมเพลงโคราช แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือ จากหมอเพลงเท่าที่ควรจากความเชื่อที่ว่า ท่านท้าวสุรนารี ( คุณหญิงโม หรือ ย่าโมที่ชาวบ้านเรียกท่าน ) ชอบเพลงโคราช ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ จึงมีผู้หาเพลงโคราชไปเล่นให้ท่านฟัง เป็นการแก้บน ณ บริเวณใกล้ ๆ กับอนุสาวรีย์ ในตอนกลางคืนเป็นประจำ อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ได้รู้จักเพลงโคราช และหมอเพลงมีรายได้ประจำ แต่ก็มีผู้สนใจไปฟังไม่มากนัก พูดถึงการดำเนินชีวิตของหมอเพลงรุ่นปัจจุบัน ส่วนใหญ่อาชีพทำนา และเล่นเพลงเป็นอาชีพรอง แต่หมอเพลง ที่มีชื่อเสียงเช่น ลอยชาย แพรกระโทก, ลำดวน จักราช, ทองสุข กำปัง, นกน้อย วังม่วง, รำไพ หัวรถไฟ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การประกอบอาชีพ ของหมอเพลงโคราชยังทำรายได้ดี ยังเป็นอาชีพที่มั่นคงอยู่ หมอเพลงดังกล่าวนี้ แม้จะประกอบอาชีพอื่น เช่น ทำนา ทำไร่ เป็นนักธุรกิจ แต่อาชีพหลักคือเล่นเพลงโคราช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความพึงพอใจต่อบล็กนี้